หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

1. ชื่อเรื่อง (The Title)

             http://www.watpon.com/Elearning/res19.htm ได้รวบรวมไว้ว่า ชื่อเรื่องวิจัยนับเป็นจุดแรกที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในปัญหารวมทั้งวิธีการดำเนินการวิจัยของผู้วิจัยอีกด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องวิจัยจึงต้องเขียนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่เขียนอย่างคลุมเครือ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงต้องระมัดระวังในการตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้เหมาะสม ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
1.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้สั้น โดยใช้คำที่เฉพาะเจาะจง หรือสื่อความหมายเฉพาะเรื่อง และควรเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย กะทัดรัด แต่ชื่อเรื่องก็ไม่ควรจะสั้นเกินไปจนทำให้ขาดความหมายทางวิชาการ
2.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้ตรงกับประเด็นของปัญหา เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วจะได้ทราบว่าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาอะไรได้ทันที อย่างตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ทำให้ผู้อ่านตีความได้หลายทิศทาง และอย่าพยายามทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเกินความเป็นจริง
3.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยโดยการใช้คำที่บ่งบอกให้ทราบถึงประเภทของการวิจัย ซึ่งจะทำให้ชื่อเรื่องชัดเจน และเข้าใจง่ายขึ้น เช่น
3.1  การวิจัยเชิงสำรวจ มักใช้คำว่า การสำรวจ หรือการศึกษาในชื่อเรื่องวิจัยหรืออาจระบุตัวแปรเลยก็ได้ เช่น การศึกษาการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการสำรวจการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการใช้สารเคมีของชาวอีสาน เป็นต้น
3.2  การวิจัยเชิงศึกษาเปรียบเทียบ การตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะนี้ มักจะใช้คำว่า การศึกษา เปรียบเทียบ หรือการเปรียบเทียบ นำหน้า เช่น การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านของนักเรียนในเขตและนอกเขตเทศบาล ของจังหวัดมหาสารคาม
3.3  การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ การวิจัยประเภทนี้จะใช้คำว่า การศึกษาความสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์ นำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับพ่อแม่และการปรับตัวของวัยรุ่น เป็นต้น
3.4  การวิจัยเชิงการศึกษาพัฒนาการ การวิจัยประเภทนี้มักใช้คำว่า การศึกษาพัฒนาการหรือพัฒนาการ นำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น การศึกษาพัฒนาการด้านการเขียนของเด็กก่อนวัยเรียนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม
3.5  การวิจัยเชิงทดลอง การตั้งชื่อเรื่องวิจัยประเภทนี้อาจตั้งชื่อได้แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการทดลอง เช่น อาจใช้คำว่า การทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การศึกษา การเปรียบเทียบ ฯลฯ นำหน้า หรือาจจะไม่ใช้คำเหล่านี้นำหน้าก็ได้ เช่น การทดลองเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในจังหวัดอ่างทอง การวิเคราะห์หาปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นในปลายรากข้าวโพดหลังจากแช่ในสารละลายน้ำตาลชนิดต่าง ๆ
4.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะของคำนาม ซึ่งจะทำให้เกิดความไพเราะ สละสลวยกว่าการใช้คำกริยานำหน้าชื่อเรื่อง เช่น แทนที่จะใช้คำว่า ศึกษา เปรียบเทียบ สำรวจ ก็ควรใช้คำที่มีลักษณะเป็นคำนามนำหน้า เช่น การศึกษา การเปรียบเทียบ การสำรวจ ฯลฯ ดังตัวอย่าง
ไม่ดี : เปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงของโรงเรียนเมืองเลย
ดีขึ้น : การเปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงของโรงเรียนเมืองเลย
5.  ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ประกอบด้วยข้อความเรียงที่สละสลวยได้ใจความสมบูรณ์ คือเป็นชื่อเรื่องที่ระบุให้ทราบตั้งแต่จุดมุ่งหมายของการวิจัย ตัวแปร และกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษาวิจัยด้วย เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนการสอบคัดเลือกกับเกรดเฉลี่ยสะสมและเจตคติต่อวิชาชีพครูของนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2544 อนึ่ง นักวิจัยบางท่านก็นิยมเขียนชื่อเรื่องวิจัยสั้น ๆ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดลงไป เช่น บุคลิกภาพของนักศึกษาครู เป็นต้น 

http://www.drpracha.com/index.php?topic=1119.0  ได้รวบรวมว้ว่า ชื่อเรื่องที่จะวิจัยจะต้องตรงกับปัญหาที่จะศึกษา มีความชัดเจนทางด้านภาษา ผู้อ่านเห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าจะทำอะไร ไม่ต้องตีความอีก ในที่นี้มีข้อเสนอแนะในการตั้งชื่อเรื่องวิจัย ซึ่งประมวลจากประสบการณ์ในการศึกษางานวิจัย  ดังนี้
1. ตั้งชื่อเรื่องโดยใช้ภาษาง่าย  สั้น  กระซับ  และชัดเจน  ครอบคลุมปัญหาที่จะวิจัย  เช่น การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพด้านการสอนของครูประจำการระดับประถมศึกษา 
2. ชื่อเรื่องต้องสามารถบอกได้ว่าเป็นการศึกษาอะไร  กับใคร  หรือของใคร  ที่ไหน  (ถ้าเกี่ยวข้องกับสถานที่)  หรือเมื่อไร  (ถ้าเกี่ยวข้องกับเวลา)  เช่น การศึกษาบัญหาและความต้องการเพื่อจัดโครงการศึกษานอกระบบโรงเรียนในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย 
3. ชื่อเรื่อง  ต้องไม่ยาวจนดูฟุ่มเฟือย  อ่านแล้วเข้าใจยาก  หรือจับประเด็นไม่ได้  เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมรรถวิสัย  ในกิจกรรมเสริมหลักสูตรภาษาไทยกับความสนใจในการติดตามข่าวสาร  เหตุการณ์จากหนังสือพิมพ์  ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4  ของโรงเรียนรัฐบาลในเขตจังหวัดชุมชม   ภาคใต้  ของประเทศไทย
ชื่อเรื่องที่ยาวแต่ไม่ฟุ่มเฟือย เช่น การศึกษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคของนักเรียนชาย : เปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษากับนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 1 ในเขตกรุงเทพมหานคร
                4. ชื่อเรื่อง ต้องไม่สั้นจนเกินไป  อ่านไม่รู้เรื่องว่าทำอะไร  เช่น
                        * “การศึกษาปัญหาการใช้สารเสพติด  เป็นการศึกษาที่ไหน  กับใคร
                        * “เปรียบเทียบการใช้ห้องสมุดประชาชนเปรียบเทียบเรื่องอะไร  ระหว่างใครกับใคร  ที่ไหน
                5. ชื่อเรื่อง  ควรขึ้นต้นด้วยคำนาม  เพื่อให้เกิดความไพเราะสละสลวย  ที่นิยมกัน  คือ  มักจะขึ้นด้วยคำว่า   การศึกษา  การสำรวจ  การวิเคราะห์  การเปรียบเทียบ เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถทางสมองกับความสามารถทางการคิดแก้ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษา
6. ชื่อเรื่องวิจัยควรระบุถึงประเภท  หรือวิธีการศึกษา  ตัวแปรสำคัญ  กลุ่มตัวอย่างลงไปด้วย

เทียนฉาย  กีระนันทน์ (2547 : 12) ได้กล่าวว่า ชื่อเรื่องควรมีความหมายสั้น กะทัดรัดและชัดเจน เพื่อระบุถึงเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัย ว่าทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด หรือต้องการผลอะไร ยกตัวอย่างเช่น ประสิทธิผลของการใช้วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันกับทหารในศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ 2547” ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ชื่อที่ยาวมากๆ อาจแบ่งชื่อเรื่องออกเป็น 2 ตอน โดยให้ชื่อในตอนแรกมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่า และตอนที่สองเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนขยาย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคของนักเรียนชาย : การเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษากับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงเทพมหานคร 2547
นอกจากนี้ ควรคำนึงด้วยว่าชื่อเรื่องกับเนื้อหาของเรื่องที่ต้องการศึกษาควรมีความสอดคล้องกันการเลือกเรื่องในการทำวิจัยเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ หลายประเด็น โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้รับจากผลของการวิจัย ในการเลือกหัวเรื่องของการวิจัย มีข้อควรพิจารณา 4 หัวข้อ คือ
                   1. ความสนใจของผู้วิจัย ควรเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจมากที่สุด และควรเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป
                   2. ความสำคัญของเรื่องที่จะทำวิจัย ควรเลือกเรื่องที่มีความสำคัญ และนำไปใช้ปฏิบัติหรือสร้างแนวความคิดใหม่ๆ ได้
                   3. เป็นเรื่องที่สามารถทำวิจัยได้ เรื่องที่เลือกต้องอยู่ในวิสัยที่จะทำวิจัยได้ โดยไม่มีผลกระทบอันเนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น ด้านจริยธรรม ด้านงบประมาณ ด้านตัวแปรและการเก็บข้อมูล ด้านระยะเวลาและการบริหาร ด้านการเมือง หรือเกินความสามารถของผู้วิจัย
                   4. ไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่ทำมาแล้ว ซึ่งอาจมีความซ้ำซ้อนในประเด็นต่างๆ ที่ต้องพิจารณาเพื่อหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชื่อเรื่องและปัญหาของการวิจัย (พบมากที่สุด) สถานที่ที่ทำการวิจัย ระยะเวลาที่ทำการวิจัย วิธีการของการวิจัย


สรุปความว่า การตั้งชื่อเรื่องงานวิจัยนั้นจะต้องเขียนให้เข้าใจง่าย ไม่เขียนอย่างคลุมเครือ เขียนให้ตรงกับปัญหาที่จะศึกษา  มีความชัดเจนทางด้านภาษา  ผู้อ่านเห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าจะทำอะไร  ไม่ต้องตีความอีก  ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงต้องระมัดระวังในการตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้เหมาะสม ซึ่งเมื่อประมวลจากประสบการณ์ในการศึกษางานวิจัยแล้วมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
1. ตั้งชื่อเรื่องโดยใช้ภาษาง่าย  สั้น  กระซับ  และชัดเจน  ครอบคลุมปัญหาที่จะวิจัย โดยใช้คำที่เฉพาะเจาะจง
2. ชื่อเรื่องต้องสามารถบอกได้ว่าเป็นการศึกษาอะไร  กับใคร  ที่ไหน   หรือเมื่อไร 
3. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ประกอบด้วยข้อความเรียงที่สละสลวยได้ใจความสมบูรณ์  ไม่ยาวจนดูฟุ่มเฟือย  อ่านแล้วเข้าใจยาก  หรือจับประเด็นไม่ได้  หรือ ชื่อเรื่องที่ยาวแต่ไม่ฟุ่มเฟือย เช่น การศึกษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคของนักเรียนชาย : เปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษากับนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ 1 ในเขตกรุงเทพมหานคร
4. ชื่อเรื่อง ต้องไม่สั้นจนเกินไป  อ่านไม่รู้เรื่องว่าทำอะไร 
5. ชื่อเรื่อง  ควรขึ้นต้นด้วยคำนาม  เพื่อให้เกิดความไพเราะสละสลวย  ที่นิยมกัน  คือ  มักจะขึ้นด้วยคำว่า   การศึกษา  การสำรวจ  การวิเคราะห์  การเปรียบเทียบ
6. ชื่อเรื่องวิจัยควรระบุถึงประเภท  หรือวิธีการศึกษา  ตัวแปรสำคัญ  กลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มเป้าหมาย
7. ควรเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจมากที่สุด และควรเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป
8. ความสำคัญของเรื่องที่จะทำวิจัย ควรเลือกเรื่องที่มีความสำคัญ และนำไปใช้ปฏิบัติ
9. เป็นเรื่องที่สามารถทำวิจัยได้ เรื่องที่เลือกต้องอยู่ในวิสัยที่จะทำวิจัยได้ โดยไม่มีผลกระทบอันเนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น ด้านจริยธรรม ด้านงบประมาณ ด้านตัวแปรและการเก็บข้อมูล ด้านระยะเวลาและการบริหาร ด้านการเมือง หรือเกินความสามารถของผู้วิจัย
10. ไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่ทำมาแล้ว ซึ่งอาจมีความซ้ำซ้อนในประเด็นต่างๆ ที่ต้องพิจารณาเพื่อหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชื่อเรื่องและปัญหาของการวิจัย สถานที่ที่ทำการวิจัย ระยะเวลาที่ทำการวิจัย วิธีการ หรือระเบียบวิธีของการวิจัย


อ้างอิง
http://www.watpon.com/Elearning/res19.htm. เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555
http://www.drpracha.com/index.php?topic=1119.0.  เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555
เทียนฉาย กีระนันทน์. (2547). สังคมศาสตร์วิจัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น